ลักษณะอาการ
ปวดศีรษะไมเกรน โดยทั่วไปแบ่งได้ เป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่
- ไมเกรนแบบมีอาการนำ (Migraine With Aura หรือ Classic Migraine) อาการนำที่อาจเกิด ได้แก่ การมองเห็นผิดปกติ เช่น เห็นแสงระยิบระยับ ภาพมืดหายชั่วครู่ อาการชาตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย การพูดติดขัดหรือนึกคำพูดไม่ออก อาการเหล่านี้มักเป็นชั่วคราวประมาณ 5 - 20 นาทีก่อนมีอาการปวดศีรษะ
- ไมเกรนแบบไม่มีอาการนำ (Migraine Without Aura หรือ Common Migraine) พบได้บ่อยที่สุด อาการปวดหัวจะเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีอาการนำ
ลักษณะอาการปวดศีรษะไมเกรน ได้แก่
- อาการปวดหัวมีระยะเวลาประมาณ 4 - 72 ชั่วโมง (โดยยังไม่ได้รักษา หรือรักษาแล้วไม่ได้ผล)
- อาการปวดมีลักษณะ
- ปวดข้างเดียว
- ลักษณะอาการปวดตุบ ๆ
- มีระดับอาการปวดปานกลางถึงปวดมาก
- ถูกกระตุ้นโดยกิจวัตรประจำวัน หรืออาการปวดเป็นมากจนทำให้ต้องเลี่ยงการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การเดิน การขึ้นบันได
- ระหว่างมีอาการปวดศีรษะ จะมีอาการร่วมคือ คลื่นไส้/อาเจียน หรือแพ้เสียง/แพ้แสง
สาเหตุ
สาเหตุของอาการปวดศีรษะไมเกรนยังไม่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่า น่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงชั่วคราวของสารเคมี เส้นประสาท และหลอดเลือดในสมอง นอกจากนี้ ยังสันนิษฐานว่า กรรมพันธุ์อาจมีผลต่อการมีอาการปวดศีรษะไมเกรนได้
ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะไมเกรนจากปัจจัยกระตุ้น เช่น
- การมีรอบเดือน
- ความเครียด
- ความเหน็ดเหนื่อย
- อาหารบางชนิด ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ไวน์แดง เนยแข็ง เนื้อแปรรูป ผลิตภัณฑ์นม ช็อกโกแลต และเครื่องปรุงอาหาร เช่น ผงชูรสและน้ำตาลเทียม ซึ่งในแต่ละคน อาหารที่กระตุ้นอาการปวดศีรษะอาจไม่เหมือนกัน หากสงสัยว่ามีอาหารที่กระตุ้นอาการปวด ให้ทำการสังเกตและจดบันทึก ลองนึกทบทวนว่าได้รับประทานอาหารอะไรไปใน 12 ชั่วโมงที่ผ่านมา หากสงสัยว่าได้รับประทานอาหารที่อาจกระตุ้นการปวดได้ แนะนำให้ลองหยุดอาหารชนิดนั้น 1 - 2 สัปดาห์ แล้วลองรับประทานอีกครั้ง
วินิจฉัยอย่างไร?
ปวดศีรษะไมเกรน เป็นโรคที่วินิจฉัยได้โดยการซักประวัติ และตรวจร่างกาย ซึ่งประวัติที่ซักจะเน้นเรื่องของลักษณะอาการปวดศีรษะ ระยะเวลา และอาการอื่น ๆ ที่เกิดร่วมกับอาการปวด แต่หากอาการปวดศีรษะรุนแรงมาก หรือมีสัญญาณของอาการปวดศีรษะรุนแรง อาจจำเป็นต้องทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เป็นต้น
อาการปวดที่ถือว่า เป็นสัญญาณของอาการปวดที่รุนแรง อาจเรียกได้ว่าเป็นอาการ "ธงแดง" (Red Flag Sign) ที่บ่งบอกว่าน่าจะมีสาเหตุที่อันตราย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและหาสาเหตุอย่างใกล้ชิด ได้แก่
- อาการปวดแบบฉับพลัน เช่น มีอาการปวดแปล๊บรุนแรงทันที
- อาการปวดเริ่มเป็นตอนอายุตั้งแต่ 50 ปี เนื่องจากอาการปวดศีรษะไมเกรนมักเกิดกับผู้ที่มีอายุในช่วงวัยกลางคน หากเริ่มเป็นตอนอายุมาก อาจจำเป็นต้องหาสาเหตุของอาการปวดอื่น ๆ
- อาการปวดเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแตกต่างกับอาการปวดศีรษะไมเกรนที่มักจะเป็น ๆ หาย ๆ
- มีอาการทางระบบประสาท เช่น อาการแขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว ชาครึ่งซีก
- การมองเห็นแย่ลง เช่น ภาพหาย ภาพเบลอ หรือภาพซ้อนซึ่งไม่หายไปเอง ลักษณะอาการนี้อาจบ่งบอกถึงภาวะจอประสาทตาบวมซึ่งเกิดจากเแรงดันในกระโหลกศีรษะเพิ่ม
- มีอาการทางระบบอื่น ๆ ของร่างกายร่วม เช่น มีไข้ มีอาการเหงื่อออกตอนกลางคืน หรือมีโรคร่วมที่เกี่ยวกับระบบประสาท หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- อาการปวดเป็นมากขึ้นเวลาไอ จาม เบ่ง
- อาการปวดเริ่มในช่วงที่มีการตั้งครรภ์
วิธีการรักษา
- Paracetamol (500 mg) รับประทานครั้งละ 1 เม็ดเวลามีอาการปวดทุก 4 - 6 ชั่วโมง
- Ibuprofen (400 mg) รับประทานครั้งละ 1 เม็ดเวลามีอาการปวดทุก 8 ชั่วโมง
- Domperidone (10 mg) ลดอาการคลื่นไส้อาเจียน รับประทานครั้งละ 1 เม็ดก่อนอาหารเช้า-กลางวัน-เย็น
- Ergotamine Tartrate (1mg) + Caffeine (100mg) รักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน รับประทาน 1 เม็ดทันทีเมื่อมีอาการ หากมีอาการสามารถรับประทานซ้ำได้ทุก 30 นาที แต่สูงสุดไม่เกิน 6 เม็ดต่อวัน และไม่เกิน 10 เม็ดต่อสัปดาห์
- Flunarizine (5mg) ยาขยายหลอดเลือดป้องกันการเกิดไมเกรน รับประทานครั้งละ 1 เม็ดก่อนนอน
การปฏิบัติตัว
ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวหากมีอาการปวดศีรษะไมเกรน
- ทำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลาย
- หลีกเลี่ยงปัจจัยที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการปวดศีรษะไมเกรน ได้แก่ การนอนไม่พอ การอดนอน ความเครียด อาการเหนื่อยล้าจากการทำงานหรือเล่นกีฬา การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การอยู่ในที่ที่มีแสงจ้า ๆ หรือสถานที่ที่มีเสียงดัง เสียงอึกทึก อาหารบางชนิดที่กระตุ้นอาการปวด
- หากมีอาการ ให้นอนพักในที่มืดและเงียบสงบ รับประทานยาลดอาการปวด
- ประคบเย็นบริเวณศีรษะหากมีอาการปวดมาก
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
หากมีอาการปวดศีรษะที่ไม่รุนแรง สามารถไลน์มาปรึกษา Health at Work ได้ตลอด แต่หากมีอาการปวดรุนแรงหรือมีสัญญาณของอาการปวดที่รุนแรง (อาการ "ธงแดง") แนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจกับแพทย์ทันที