ลักษณะอาการ
ลมพิษ แบ่งออกเป็น 2 ชนิดตามระยะเวลา และ อาการ ได้แก่
- ลมพิษชนิดเฉียบพลัน (Acute Urticaria) คือ ลักษณะของลมพิษที่เกิดขึ้น และหายไปเองโดยจะมีอาการเป็นระยะเวลาประมาณ 48 ชั่วโมง หรือเป็นติดต่อกันไม่เกิน 6 สัปดาห์
- ลมพิษชนิดเรื้อรัง (Chronic Urticaria) คือ ลักษณะของลมพิษที่มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ต่อเนื่องกันนานกว่า 6 สัปดาห์ขึ้นไป
ลักษณะของผื่นที่เรียกว่า เป็นลมพิษ มีลักษณะเกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว เป็นปื้นนูนแดงขอบเขตชัดเจน ไม่มีขุยหรือสะเก็ด มีอาการคัน อาจเป็นเฉพาะที่ หรือเป็นขึ้นทั่วตัว ผื่นมักจะคงอยู่ไม่นาน มักไม่เกิน 24 ชั่วโมง จากนั้นผื่นนั้นก็จะหายไปโดยไม่ทิ้งรอย แต่ก็อาจเกิดผื่นใหม่ขึ้นที่อื่นได้
ภาพของลักษณะผื่นลมพิษในบางรายอาจมีอาการตาบวม หรือริมฝีปากบวม (Angioedema) ได้ ซึ่งบ่งบอกถึงอาการแพ้ที่รุนแรงมากกว่าผื่นลมพิษปกติ บางรายอาจมีอาการปวดท้อง แน่นจมูก แน่นคอ หายใจไม่สะดวก มีอาการหอบ หรือหน้ามืดหมดสติจากภาวะความดันโลหิตต่ำได้ ลักษณะนี้พบได้น้อย แต่บ่งบอกถึงอาการแพ้ที่รุนแรงที่เรียกว่า ภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (Anaphylaxis) ซึ่งการแพ้ลักษณะนี้อาจสัมพันธ์กับสารกระตุ้นบางอย่าง เช่น แพ้อาหารหรือแพ้ยาบางชนิด แมลงกัดต่อย หรือสารอื่น ๆ โดยภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน
ลักษณะของริมฝีปากบวม (Angioedema)สาเหตุ
ลมพิษ เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น สิ่งแวดล้อม อุณหภูมิ หรือสารต่าง ๆ ที่ร่างกายแพ้
ในบางรายอาจไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าตัวกระตุ้นลมพิษเป็นสิ่งใด แต่สาเหตุที่มักทำให้เกิดลมพิษ ได้แก่
- แพ้อาหาร เช่น อาหารทะเล
- แพ้ยา
- แพ้ฝุ่น แพ้ละอองเกสร
- แพ้พืชบางชนิด
- แพ้ขนสัตว์ เช่น ขนสุนัข ขนแมว
- พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย
- การอักเสบติดเชื้อในร่างกาย เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา
- การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- พักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายอ่อนแอ
- การสัมผัสสารเคมีหรือสารบางอย่าง เช่น เครื่องสำอาง สเปรย์ ยาฆ่าแมลง
- สิ่งแวดล้อม หรืออุณหภูมิ เช่น แพ้แสงแดด แพ้ความร้อน ความเย็น เหงื่อ (เช่น เหงื่อหลังจากการออกกำลังกาย) อุณหภูมิในร่างกายสูง
- การขีดข่วนที่เกิดขึ้นกับผิวหนัง ซึ่งอาจะทำให้เกิดการนูนคันตามรอยขีด หรือรอยกดทับ ที่เรียกว่า Dermographism
- ภาวะความเครียด วิตกกังวล ทำให้เกิดลมพิษได้เช่นกัน
วินิจฉัยอย่างไร?
การวินิจฉัยอาการลมพิษ จะเน้นการสอบถามประวัติเกี่ยวกับอาการเบื้องต้น ลักษณะของผื่น ระยะเวลาที่เกิดขึ้น ปัจจัยที่กระตุ้นการเกิด ประวัติอาการแพ้ที่มีมาก่อนหน้า ประวัติการเป็นโรคประจำตัวอื่น ๆ หรือประวัติการเข้ารับรักษาพยาบาล อาการอื่น ๆ ที่เกิดร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะของอาการที่บ่งบอกถึงภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน ได้แก่ แน่นหน้าอก หอบเหนื่อย หายใจไม่สะดวก คลื่นไส้อาเจียน หรือมีอาการใจสั่นหน้ามืด การตรวจร่างกาย เน้นการดูลักษณะของผื่น และอาการที่เกิดร่วมกับผื่นตามระบบ
หากมีอาการลมพิษเกิดขึ้นบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ อาจต้องมีการทดสอบทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังโดยวิธีสะกิด (Skin Prick Testing) หรือ การเจาะเลือดหาสารกระตุ้นอาการภูมิแพ้ (Specific IgE) เพื่อหาสารที่แพ้ เป็นต้น
วิธีการรักษา
ยาแก้แพ้
- Hydroxyzine (10mg) รับประทานครั้งละ 1 เม็ดเวลามีอาการคัน ทุก 8 ชั่วโมง
- Chlorpheniramine (4mg) รับประทานครั้งละ 1 เม็ดเวลามีอาการคัน ทุก 8 ชั่วโมง
- Loratadine (10mg) รับประทานวันละ 1 เม็ด เมื่อมีอาการคัน
- Cetirizine (10mg) รับประทานวันละ 1 เม็ด เมื่อมีอาการคัน
- Fexofenadine (180mg) รับประทานวันละ 1 เม็ด เมื่อมีอาการคัน
ยาทาเพื่อลดอาการคัน
- Triamcinolone Acetonide Cream 0.1% (15g)
- Calamine Lotion
ยาทาเพิ่มความชุ่มชื้นของผิวหนัง
- 10% Urea Cream
การปฏิบัติตัว
ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวหากมีอาการลมพิษ
- ทายาเพื่อบรรเทาอาการผื่น
- รับประทานยาแก้แพ้
- หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการลมพิษ
- ไม่ควรสัมผัสกับผื่นลมพิษโดยตรง ไม่เเกะเกาผิวหนัง
- ดูแลผิวหนังไม่ให้แห้ง
- ไม่ควรเครียด นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
หากมีผื่นขึ้นตามตัว สามารถไลน์มาปรึกษา Health at Work ได้ตลอด แต่หากอาการไม่ดีขึ้นใน 24 ชั่วโมง หรือมีอาการที่บ่งบอกถึงภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน แนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจกับแพทย์ทันที